วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

เทคโนโลยีการศึกษา


 ความหมายเทคโนโลยีทางการศึกษา
คำว่า "เทคโนโลยี”(Technology) มาจากรากศัพท์ "Technic" หรือ "Techno" ซึ่งมีความหมายว่า วิธีการ หรือการจัดแจงอย่างเป็นระบบ รวมกับ "logy" ซึ่งแปลว่า ศาสตร์หรือ วิทยาการดังนั้น คำว่า "เทคโนโลยี" ตามรากศัพท์จึงหมายถึง ศาสตร์ว่าด้วยวิธีการหรือศาสตร์ที่ว่าด้วยการจัดการ หรือการจัดแจงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดระบบใหม่และเป็นระบบที่สามารถนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้ได้ ซึ่งก็มีความหมายตรงกับความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรม คือ วิทยาศาสตร์ประยุกต์  ดังนั้น เทคโนโลยีการศึกษาจึงเป็นการจัดแจงหรือการประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์กายภาพมาใช้ในกระบวนการของการศึกษา ซึ่งเป็นพฤติกรรมศาสตร์ โครงสร้างมโนมติของเทคโนโลยีการศึกษาจึงต้องประกอบด้วย มโนมติทางวิทยาศาสตร์กายภาพ มโนมติทางพฤติกรรมศาสตร์ โดยการประสมประสานของมโนมติอื่นที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น การประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์กายภาพทางวิศวกรรมและทางเคมีได้เครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์ สามารถผลิตหนังสือตำราต่างๆ ได้ และจากการประยุกต์หลักพฤติกรรมศาสตร์ทางจิตวิทยา จิตวิทยาการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้และหลักความแตกต่างระหว่างบุคคล ทำให้ได้เนื้อหาในลักษณะเป็นโปรแกรมขั้น   ย่อย ๆ จากง่ายไปหายาก เมื่อรวมกันระหว่างวิทยาศาสตร์กายภาพและพฤติกรรมศาสตร์ในตัวอย่างนี้ ทำให้เกิดผลิตผลทางเทคโนโลยีการศึกษาขึ้น คือ "ตำราเรียนแบบโปรแกรม"
อีกตัวอย่างหนึ่งการประยุกต์วิทยาศาสตร์กายภาพเกี่ยวกับแสง เสียงและอิเล็กทรอนิกส์บนพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ใช้ระบบเลขฐานสองทำให้ได้เครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อประสมประสานกับผลการประยุกต์ทาง      พฤติกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้ หลักความแตกต่างระหว่างบุคคล             หลักการวิเคราะห์งาน และทฤษฎีสื่อการเรียนการสอนแล้วทำให้ได้ผลผลิตทางเทคโนโลยีการศึกษา คือ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction: CAI)
มีผู้ให้คำนิยามของคำว่า เทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) ไว้ดังนี้
วิจิตร ศรีสอ้าน (วิจิตร ,2517)ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นการประยุกต์เอาเทคนิควิธีการ แนวความคิด อุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาทั้งในด้านการขยายงานและด้านการปรับปรุงคุณภาพของการเรียนการสอน
นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,2546 )ยังได้สรุปเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนว่า "เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา" มีความหมายครอบคลุมการผลิต การใช้ และการพัฒนาสื่อสารมวลชน(อันได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์) เทคโนโลยีสารสนเทศ(คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต) และโทรคมนาคม (โทรศัพท์ เครือข่ายโทรคมนาคมและการสื่อสารอื่นๆ) เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ตามความต้องการของผู้เรียนในทุกเวลาและทุกสถานที่
ทบวงมหาวิทยาลัย (ทบวงมหาวิทยาลัย,2546) นิยามว่า "เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา" เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษา โดยการนำสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม และการจัดแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ มาใช้เพื่อจัดให้การศึกษาที่สามารถผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้าได้ตามความต้องการ เพื่อให้การเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตทั้งด้านการศึกษาสาระความรู้ทางวิชาการ ทางศาสนา และศิลปะ วัฒนธรรม สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาตามความหมายของทบวงมหาวิทยาลัยนั้น ครอบคลุมสื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ เครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตโทรสาร โทรศัพท์ และโทรคมนาคมอื่นรวมทั้งแหล่งการเรียนรู้ทั่วไป โดยมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้เต็มตามศักยภาพ ปราศจากข้อจำกัดด้านโอกาส ถิ่นที่อยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม
"เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา" ตามความหมายของร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ หมายถึง การนำสื่อตัวนำ คลื่นความถี่ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการแพร่เสียง ภาพ และการสื่อสารในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยครอบคลุมสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม สื่อโสตทัศน์ แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการและแหล่งการเรียนรู้หรือเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่นตามที่คณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติกำหนด
Carter V. Good(good,1973) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษาหมายถึง การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบและส่งเสริมระบบการเรียนการสอน โดนเน้นที่วัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องแน่นอน มีการยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนมากกว่ายึดเนื้อหาวิชามีการใช้การศึกษาเชิงปฏิบัติโดยผ่านการวิเคราะห์และการใช้โสตทัศนูปกรณ์รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ สื่อการสอนต่างๆ ในลักษณะของสื่อประสมและการศึกษาด้วยตนเอง
Gagne' และ Briggs (gagne',1974)ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษานั้น พัฒนามาจากการออกแบบการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ โดยรวมถึง
1.ความสนใจในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลในเรื่องของการเรียนรู้ เช่น บทเรียน แบบโปรแกรม และ บทเรียนการสอนใช้คอมพิวเตอร์ช่วย เป็นต้น
2.ด้านพฤติกรรมศาสตร์และทฤษฏีการเรียนรู้ เช่น ทฤษฏีการเสริมแรงของ B.F. Skinner
3.เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ เช่น โสตทัศนูปกรณ์ประเภทต่างๆ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย
Heinich,Molenda และ Russel (Heinich,1989) เสนอว่า เทคโนโลยีการศึกษาคือการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ให้ปฏิบัติได้ในรูปแบบของการเรียนและการสอนอีกนัยหนึ่งก็คือ การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาทางการสอนซึ่งก็คือความพยายามสร้างการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการออกแบบ ดำเนินการและประเมินผลการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานของการศึกษาวิจัยในการเรียนและการสื่อสาร
กิดานันท์ มลิทอง(2545) ปัจจุบันนี้สมาคมเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการสื่อสารได้ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เป็นทฤษฏีและการปฏิบัติของการออกแบบ การพัฒนาการใช้ การจัดการ และการประเมิน ของกระบวนการและทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้
        โดยสรุป เทคโนโลยีการศึกษาหมายความถึงการนำเอา วัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการต่างๆมาใช้อย่างเป็นระบบเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น