วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

เทคโนโลยีการศึกษา


 ความหมายเทคโนโลยีทางการศึกษา
คำว่า "เทคโนโลยี”(Technology) มาจากรากศัพท์ "Technic" หรือ "Techno" ซึ่งมีความหมายว่า วิธีการ หรือการจัดแจงอย่างเป็นระบบ รวมกับ "logy" ซึ่งแปลว่า ศาสตร์หรือ วิทยาการดังนั้น คำว่า "เทคโนโลยี" ตามรากศัพท์จึงหมายถึง ศาสตร์ว่าด้วยวิธีการหรือศาสตร์ที่ว่าด้วยการจัดการ หรือการจัดแจงสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดระบบใหม่และเป็นระบบที่สามารถนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ที่ตั้งใจไว้ได้ ซึ่งก็มีความหมายตรงกับความหมายที่ปรากฏในพจนานุกรม คือ วิทยาศาสตร์ประยุกต์  ดังนั้น เทคโนโลยีการศึกษาจึงเป็นการจัดแจงหรือการประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์กายภาพมาใช้ในกระบวนการของการศึกษา ซึ่งเป็นพฤติกรรมศาสตร์ โครงสร้างมโนมติของเทคโนโลยีการศึกษาจึงต้องประกอบด้วย มโนมติทางวิทยาศาสตร์กายภาพ มโนมติทางพฤติกรรมศาสตร์ โดยการประสมประสานของมโนมติอื่นที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น การประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์กายภาพทางวิศวกรรมและทางเคมีได้เครื่องพิมพ์และหมึกพิมพ์ สามารถผลิตหนังสือตำราต่างๆ ได้ และจากการประยุกต์หลักพฤติกรรมศาสตร์ทางจิตวิทยา จิตวิทยาการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้และหลักความแตกต่างระหว่างบุคคล ทำให้ได้เนื้อหาในลักษณะเป็นโปรแกรมขั้น   ย่อย ๆ จากง่ายไปหายาก เมื่อรวมกันระหว่างวิทยาศาสตร์กายภาพและพฤติกรรมศาสตร์ในตัวอย่างนี้ ทำให้เกิดผลิตผลทางเทคโนโลยีการศึกษาขึ้น คือ "ตำราเรียนแบบโปรแกรม"
อีกตัวอย่างหนึ่งการประยุกต์วิทยาศาสตร์กายภาพเกี่ยวกับแสง เสียงและอิเล็กทรอนิกส์บนพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ใช้ระบบเลขฐานสองทำให้ได้เครื่องคอมพิวเตอร์ เมื่อประสมประสานกับผลการประยุกต์ทาง      พฤติกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจิตวิทยาการเรียนรู้ ทฤษฎีการเรียนรู้ หลักความแตกต่างระหว่างบุคคล             หลักการวิเคราะห์งาน และทฤษฎีสื่อการเรียนการสอนแล้วทำให้ได้ผลผลิตทางเทคโนโลยีการศึกษา คือ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction: CAI)
มีผู้ให้คำนิยามของคำว่า เทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) ไว้ดังนี้
วิจิตร ศรีสอ้าน (วิจิตร ,2517)ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษาเป็นการประยุกต์เอาเทคนิควิธีการ แนวความคิด อุปกรณ์และเครื่องมือใหม่ๆ มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษาทั้งในด้านการขยายงานและด้านการปรับปรุงคุณภาพของการเรียนการสอน
นอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,2546 )ยังได้สรุปเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนว่า "เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา" มีความหมายครอบคลุมการผลิต การใช้ และการพัฒนาสื่อสารมวลชน(อันได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์) เทคโนโลยีสารสนเทศ(คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต) และโทรคมนาคม (โทรศัพท์ เครือข่ายโทรคมนาคมและการสื่อสารอื่นๆ) เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ได้ตามความต้องการของผู้เรียนในทุกเวลาและทุกสถานที่
ทบวงมหาวิทยาลัย (ทบวงมหาวิทยาลัย,2546) นิยามว่า "เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา" เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษา โดยการนำสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม และการจัดแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ มาใช้เพื่อจัดให้การศึกษาที่สามารถผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้าได้ตามความต้องการ เพื่อให้การเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตทั้งด้านการศึกษาสาระความรู้ทางวิชาการ ทางศาสนา และศิลปะ วัฒนธรรม สื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาตามความหมายของทบวงมหาวิทยาลัยนั้น ครอบคลุมสื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโสตทัศน์ เครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตโทรสาร โทรศัพท์ และโทรคมนาคมอื่นรวมทั้งแหล่งการเรียนรู้ทั่วไป โดยมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้เต็มตามศักยภาพ ปราศจากข้อจำกัดด้านโอกาส ถิ่นที่อยู่ ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม
"เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา" ตามความหมายของร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ หมายถึง การนำสื่อตัวนำ คลื่นความถี่ และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการแพร่เสียง ภาพ และการสื่อสารในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ทั้งการศึกษาในระบบการศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยครอบคลุมสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ โทรคมนาคม สื่อโสตทัศน์ แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการและแหล่งการเรียนรู้หรือเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอื่นตามที่คณะกรรมการสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติกำหนด
Carter V. Good(good,1973) กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษาหมายถึง การนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อการออกแบบและส่งเสริมระบบการเรียนการสอน โดนเน้นที่วัตถุประสงค์ทางการศึกษาที่สามารถวัดได้อย่างถูกต้องแน่นอน มีการยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนมากกว่ายึดเนื้อหาวิชามีการใช้การศึกษาเชิงปฏิบัติโดยผ่านการวิเคราะห์และการใช้โสตทัศนูปกรณ์รวมถึงเทคนิคการสอนโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ สื่อการสอนต่างๆ ในลักษณะของสื่อประสมและการศึกษาด้วยตนเอง
Gagne' และ Briggs (gagne',1974)ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีการศึกษานั้น พัฒนามาจากการออกแบบการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ โดยรวมถึง
1.ความสนใจในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลในเรื่องของการเรียนรู้ เช่น บทเรียน แบบโปรแกรม และ บทเรียนการสอนใช้คอมพิวเตอร์ช่วย เป็นต้น
2.ด้านพฤติกรรมศาสตร์และทฤษฏีการเรียนรู้ เช่น ทฤษฏีการเสริมแรงของ B.F. Skinner
3.เทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ เช่น โสตทัศนูปกรณ์ประเภทต่างๆ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย
Heinich,Molenda และ Russel (Heinich,1989) เสนอว่า เทคโนโลยีการศึกษาคือการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ให้ปฏิบัติได้ในรูปแบบของการเรียนและการสอนอีกนัยหนึ่งก็คือ การใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาทางการสอนซึ่งก็คือความพยายามสร้างการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการออกแบบ ดำเนินการและประเมินผลการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานของการศึกษาวิจัยในการเรียนและการสื่อสาร
กิดานันท์ มลิทอง(2545) ปัจจุบันนี้สมาคมเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและการสื่อสารได้ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เป็นทฤษฏีและการปฏิบัติของการออกแบบ การพัฒนาการใช้ การจัดการ และการประเมิน ของกระบวนการและทรัพยากรสำหรับการเรียนรู้
        โดยสรุป เทคโนโลยีการศึกษาหมายความถึงการนำเอา วัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการต่างๆมาใช้อย่างเป็นระบบเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการศึกษา

พัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษา

พัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษาในยุคต่างๆ
    การพัฒนาการการศึกษาที่ถือว่าเป็นเทคโนโลยีการศึกษาในอดีต เราสามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาดังนี้คือ
1)  ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนถึงปี ค..1700
การศึกษาช่วงเวลาดังกล่าวมีการพัฒนาการที่ช้ามาก การจัดการเรียนการสอนอยู่ในกลุ่มคนเล็ก ๆ การสื่อสารยังไม่เจริญ การจัดการศึกษาและพัฒนาการศึกษามีดังนี้
1. เทคโนโลยีการศึกษาของกลุ่มโซฟิสต์
ในตอนปลายของศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราชนั้น มีกลุ่มนักการศึกษากลุ่มเล็ก ๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นครูรับจ้างสอนตามบ้านในกรุงเอเธนส์ กรีกโบราณ และเป็นที่รู้จักในนามของกลุ่ม Elder Sophist คำว่า Sophist หรือ Sophistes ในยุคนั้น (450- 350 ปีก่อนคริสต์ศักราช) หมายถึง บุคคลที่เป็นผู้รู้ ซึ่งในกลุ่มนี้มีผู้รู้ที่เป็นที่รู้จักกันดีอยู่ 5 คน คือ โปรตากอรัส, จอจิแอส, โปรดิคอส, ฮิปเปียส และทราซีมาคัส ซึ่งบางทีอาจจะเรียกได้ว่าเป็นนักเทคโนโลยีทางการศึกษากลุ่มแรกก็ได้
รูปแบบการสอนของกลุ่มโซฟิสต์มี 3 ขั้นตอนคือ
- เตรียมคำบรรยายอย่างละเอียด
- เปิดโอกาสให้ผู้ฟังเสนอแนะให้บรรยายในสิ่งที่เขาต้องการรู้
- บรรยายตามความต้องการของผู้บรรยายหรือผู้ฟัง
หลักการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพูดในที่สาธารณะ (Public Lecture) และนอกจากนั้นกลุ่มโซฟิสต์ยังได้ใช้ระบบการพบปะสนทนากับผู้เรียน (Tutorial System) เพื่อสร้างสัมพันธ์กับ ผู้เรียนด้วย ลักษณะการแบบนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มของการสอนแบบมวลชน (Mass Instruction) ได้เช่นกัน
2.เทคโนโลยีการศึกษาของโสเครติส (..399-470)
โสเครตีส เพลโตและเซโนฟอนลูกศิษย์ของเขาได้ทำการบันทึกวิธีการสอนของเขาไว้ วิธีการของโสเครติสแตกต่างไปจากวิธีการของกลุ่มโซฟิสต์ที่ได้กล่าวถึงมาแล้วมาก วิธีการสอนของโสเครติส ที่อธิบายไว้ใน Plasto's Meno นั้น มุ่งที่จะสอนให้ผู้เรียนเสาะแสวงหรือสืบเสาะหาความรู้ที่เหมาะสมเอง จากการป้อนคำถามต่าง ๆ ที่เป็นการชี้แนะแนวทางให้ผู้ตอบได้ข้อคิด วิธีการของ โสเครติสนี้อาจจะเทียบได้กับวิธีการสอนแบบสืบสวนสอบสวน (Inquiry Method)
3. เทคโนโลยีการศึกษาของอเบลาร์
ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12 - 13 ยุโรปเริ่มตื่นตัวในเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบมีสถานศึกษาหรือโรงเรียน ซึ่งนับว่าเป็นวิธีใหม่แต่ก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจนถึงกับการให้สิทธิแก่ผู้สอนตั้งโรงเรียนในโบสถ์หรือวัดได้ ในบรรดาผู้สอนในโรงเรียนทั้งหมด อเบลาร์ด (..1079-1142) เป็นบุคคลตัวอย่างที่ดีคนหนึ่ง อเบลาร์ด สอนที่ Notre Dame ซึ่งเป็นโรงเรียนวัดในระหว่างปี ค..1108-1139 ต่อมาโรงเรียนนี้ได้ยกฐานะเป็น The University of Paris เมื่อ ค..1180 เขาได้ฝึกนักเรียนของเขา โดยอาศัยหลักการวิเคราะห์ตรรกศาสตร์ของอริสโตเติล ซึ่งเขาได้เขียนไว้ในหนังสือ Sic et Non (Yes and No) อันเป็นหนังสือที่แสดงให้เห็นถึงวิธีสอนของเขา ซึ่งเขาให้แง่คิดและความรู้ ทั้งหลายแก่นักเรียนโดยการเสนอแนะว่าอะไรควร (Yes) และอะไรไม่ควร (No) บ้างเสร็จแล้ว นักเรียนจะเป็นผู้ตัดสินใจและสรุปเลือกเองอย่างเสรีวิธีสอนของอเบลาร์ด มีอิทธิพลโดยตรงต่อ Peter Lombard (..1100-1160) และ St. Thomas Aquinas (1225-1274) ซึ่งเขาทั้งสองได้นำแนวคิดของอเบลาร์ด มาปรับปรุงใช้ในการเรียนการสอน โดยการระมัดระวังเทคนิคการใช้คำถามให้รัดกุมขึ้น
4.เทคโนโลยีทางการศึกษาของคอมินิอุส
                Johann Amoss Cominius (1592-1670) เกิดในครอบครัวโปรเตสแตนท์ ฐานะปานกลางในโมราเวีย (ปัจจุบันอยู่ในเชคโกสโลวาเกีย) สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในเยอรมันนี คอมินิอุส ได้ใช้ชีวิตในฐานะนักบวชและครูอยู่ในโปแลนด์ ฮังการี สวีเดน อังกฤษ และฮอลแลนด์ จนกระทั่งเกิดสงคราม 30 ปี (Thirty Years' War, 1618-1648) ระหว่างคาทอลิค และโปรเตสแตนท์ ชื่อเสียงของคอมินิอุส ในฐานะนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ ได้เริ่มต้นที่เมืองลิสซาในประเทศโปแลนด์ เมื่อ ปี ค..1627 ในขณะที่เขาเป็นนักบวชและครูอยู่ที่นั่น โดยการเขียนหนังสือสำคัญขึ้นมาหลายเล่ม และต่อมาเขาได้เป็นผู้ร่างหลักสูตรการศึกษาในฮอลแลนด์ และสวีเดน ตลอดจนสร้างโรงเรียนตัวอย่างขึ้นในฮังการีด้วย หนังสือ Great Didactic เป็นหนังสือสำคัญที่สุดเกี่ยวกับเทคนิคการสอนของ คอมินิอุส (แนวคิดเกี่ยวกับระบบการสอนของคอมินิอุสได้เริ่มเกิดขึ้นที่เมือง Leszne ประเทศโปแลนด์ โดยเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเป็นภาษา Czech พิมพ์ครั้งแรกในเยอรมัน เมื่อปี ค..1633 และพิมพ์เป็นภาษาลาตินในปี ค..1657) จุดมุ่งหมายทางการศึกษาของคอมินิอุส คือ ความรู้ คุณธรรม และความเคร่งครัดในศาสนา เขาเชื่อมั่นว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำหรับเตรียมคนเพื่อดำรงชีพอยู่อย่างเป็นสุขมากกว่าที่จะให้การศึกษาเพื่อมีอาชีพหรือตำแหน่ง และนอกจากนั้น คอมินิอุสยังมุ่งหวังที่จะให้การศึกษาเพื่อสังคมมากกว่าที่จะเน้นเรื่องความสามารถเฉพาะ ดังนั้นเพื่อให้จุดหมายทางการศึกษาของเขาสัมฤทธิ์ผล คอมินิอุส จึงจัดระบบการศึกษาเป็นแบบเปิด สำหรับทุก ๆ คน นับตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย ในบรรดาหลักการสอนของคอมินิอุสทั้งหลาย พอสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
1.การสอนควรจะเป็นไปตามธรรมชาติ เนื้อหาวิชาควรจะเหมาะสมกับวัยของผู้เรียนแต่ละคน
2.ควรสอนผู้เรียนตั้งแต่เยาว์วัย โดยให้เหมาะสมกับ อายุ ความสนใจ และสมรรถภาพของผู้เรียนแต่ละคน
3.จะสอนอะไรควรให้สอดคล้องกับชีวิตจริง และสอดแทรกค่านิยมบางอย่างให้แก่ผู้เรียนด้วย
4.ควรสอนจากง่ายไปหายาก
5.หนังสือและภาพที่ใช้ความสัมพันธ์กับการสอน
6.ลำดับการสอนที่เป็นสิ่งสำคัญ เช่น ไม่ควรสอนภาษาต่างประเทศก่อนสอนภาษามาตุภูมิ
7.ควรอธิบายหลักการทั่วไปก่อนที่จะสรุปเป็นกฎ ไม่ควรให้จดจำอะไรโดยที่ยังไม่เข้าใจในสิ่งนั้น
8.การสอนเขียนและอ่าน ควรสอนร่วมกัน นั่นก็หมายความว่าเนื้อหาวิชาที่เรียนควรสัมพันธ์กันเท่าที่จะทำได้
9.ควรเรียนรู้โดยผ่านทางประสาทสัมผัส โดยสร้างความสัมพันธ์กับคำ
10.ครูเป็นผู้สอนเนื้อหา และใช้ภาพประกอบเท่าที่ทำได้
11.สิ่งต่าง ๆ ที่จะสอนต้องสอนไปตามลำดับขั้นตอนและในการสอนครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ควรให้มากกว่าหนึ่งอย่าง
12.ไม่ควรมีการลงโทษเฆี่ยนตีถ้าผู้เรียนประสบความล้มเหลวในการเรียน
13.บรรยากาศในโรงเรียนต้องดี ประกอบด้วยของจริง รูปถ่าย และครูที่มี ใจโอบอ้อมอารี
จากหลักการสอนคอมินิอุสที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าคอมินิอุส เป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีการศึกษาและการสอนสมัยใหม่ ตัวอย่างหลักการสอนที่สำคัญอย่างหนึ่งของคอมินิอุส เราจะเห็นได้จากหนังสือ Orbus Pictus ของเขา หนังสือออบัส พิคตุส หรือโลกในรูปภาพ พิมพ์ที่เมือง Nurenberg เมื่อปี ค..1658 สำหรับเด็ก ๆ ที่เรียนลาตินและวิทยาศาสตร์ จัดว่าเป็นแบบเรียนเล่มแรกที่มีภาพประกอบบทเรียนมากถึง 150 ภาพ โดยภาพหนึ่ง ๆ จะใช้สำหรับบทเรียนบทหนึ่งโดยเฉพาะ เนื้อหาในหนังสือนี้ได้แก่ พระเจ้า โลก อากาศ ต้นไม้ มนุษย์ ดอกไม้ พืชผัก โลหะ และนก เป็นต้น หนังสือ ออบัส พิคตุส เป็นที่นิยมใช้ติดต่อกันมาอีกหลายร้อยปีและปรากฏว่า เมื่อปี ค..1810 หนังสือนี้ยังมีการซื้อขายกันอยู่ในสหรัฐอเมริกา
2) พัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษา ค..1700-1900 (..2243-..2443) ก่อนปี ค..1800
 การเรียนการสอนในอเมริกาและยุโรป ไม่ว่าจะเป็นระดับประถมหรือมัธยมศึกษาต่างก็ใช้วิธีการคล้ายคลึงกัน คือ ครูจะสอนโดยการเรียกนักเรียนทีละคนหรือหลายคนมาที่โต๊ะของเขาเพื่อให้นักเรียนอ่านออกเสียงหรือท่องจำสิ่งต่าง ๆ ที่ครูกำหนดให้ วิธีการอื่น ๆ เช่น การพัฒนาความเข้าใจโดยการอภิปรายกลุ่มนั้น ไม่มีครูคนใดรู้จัก ดังนั้นเมื่อสอนเกี่ยวกับการเขียน ครูจะเขียนเป็นแบบแล้วให้นักเรียนลอกตามการสอนส่วนมากจะเป็นไปอย่างผิวเผินและไม่มีประโยชน์ ช่วงเวลาการเรียนก็สั้น (ประมาณ 16 เดือน) ดังนั้นจึงมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ออกจากโรงเรียนไป โดยที่อ่านออกเขียนได้เพียงเล็กน้อยและนอกจากนั้น ครูเองยังไม่กล้าที่จะจูงใจนักเรียนและควบคุมวินัยในชั้นด้วย ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่ความขาดแคลนสถานที่เรียนเริ่มเป็นปัญหาสำคัญ ดังนั้น ปัญหาเรื่องประชากรอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จึงเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับประชาชนที่ยากจนในอเมริกาในยุคนั้น ประกอบกับในช่วงเวลานี้มีการพัฒนาขยายงานด้านอุตสาหกรรม มีการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานและบ้านเมืองมีความเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการทางการศึกษาก็สูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่วิธีการสอนแบบเก่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นจึงได้เกิดระบบแลนคาสเตอร์ขึ้นมาในอเมริกา เพื่อจัดการศึกษาแบบมวลชน (Mass Education) ซึ่งเสนอวิธีการศึกษาแบบประหยัด
1 เทคโนโลยีการศึกษาของแลนตาสเตอร์
Joseph Lancaster (1778-1838) ได้ริเริ่มการสอนระบบพี่เลี้ยง (Monitor System) อันยังผลให้เขาประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาในยุคนั้น วิธีการของเขาก็คือ การจัดสภาพห้องเรียนและดำเนินการสอนแบบประหยัด รวมถึงการจัดระบบเนื้อหาวิชาที่เรียนโดยพิจารณาถึงระดับชั้น สำหรับการสอนนักเรียนเป็นชั้นหรือเป็นกลุ่ม แนวคิดของเขาได้รับอิทธิพลมาจากคอมินิอุส และวิธีการของพระเยซูคริสต์ จึงทำให้เขาศึกษาการเลือกใช้สื่อที่มีประสิทธิภาพในการเรียนการสอน วิธีการของเขารู้จักกันในนามของ Lancaster's Method และจัดว่าเป็นรากฐานสำคัญของระบบทฤษฎีการเรียนรู้อีกด้วย แนวคิดของเขานอกจากจะขึ้นอยู่กับอิทธิพลทางแนวคิดของคอมินิอุสดังกล่าวมาแล้ว เขายังยอมรับแนวคิดของ John Locke ซึ่งกำลังมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่ในขณะนั้นด้วย
         วิธีการสอนของแลนคาสเตอร์ พยายามใช้วัสดุอุปกรณ์ราคาถูกและประหยัด แม้แต่ห้องเรียนก็จุนักเรียนได้มากกว่า วัสดุที่ใช้ เช่น กระดานชนวน กระบะทราย แผนภูมิ ผนังและกระดานดำ ทำให้ประหยัดกระดาษและหมึกได้มากกว่า และนอกจากนั้นทางโรงเรียนยังจัดหนังสือที่ใช้เรียนให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นอีกด้วย ดังนั้นวิธีการของเขาจึงเป็นการริเริ่มการสอนแบบมวลชน และเป็นพื้นฐานของการจัดการศึกษาแบบให้เปล่าของรัฐในเวลาต่อมาด้วย
วิธีสอนของแลนคาสเตอร์ มีรายละเอียดที่สำคัญอยู่ 6 ประการ คือ
1.การสอนความจำด้วยการท่องจำเนื้อหา
2.การฝึกแบบมีพี่เลี้ยง
3.การควบคุม
4.การจัดกลุ่ม
5.การทดสอบ
6.การจัดดำเนินการหรือบริหาร
ภายใต้การจัดดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ครูคนหนึ่ง ๆ จะสามารถสอนกลุ่มหัวหน้านักเรียนได้ถึง 50 คน (หัวหน้านักเรียนคือพี่เลี้ยง) และหัวหน้านักเรียนแต่ละคนจะสามารถฝึกนักเรียนได้ 10 คน ดังนั้นครูคนหนึ่ง ๆ ก็จะสามารถสอนนักเรียนจำนวน 500 คนหรือมากกว่านั้นได้ในเวลาเดียวกัน วิธีนี้ได้ปฏิบัติต่อกันมา จนกระทั่งค้นพบวิธีสอนแบบแก้ปัญหา (Problem Solving) ในภายหลัง
2. เทคโนโลยีการศึกษาของเปสตาลอสซี
Johann Heinrich Pestalozzi (1746-1827) เกิดที่เมืองซูริค ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ชีวิตการศึกษาของเขาในเบื้องต้นนั้น มุ่งที่จะออกไปเป็นนักกฎหมายแต่ด้วยอิทธิพลของสังคมและความคิดทางการศึกษาของ Jean Jacgues Rousseau (1712-1778) เขาจึงเปลี่ยนวิถีทางชีวิต ไปศึกษาหลักการทางการศึกษาจากหนังสือ Emile ของรุสโซ เขาเริ่มการทดลองที่บ้านของเขาใกล้ ๆ กับหมู่บ้าน Birrfield (1774-1780) ต่อจากนั้นก็มาทำการทดลองต่อในโรงเรียนที่ Stanz (1798) Burgdorf (1799-1804) และ Yverdon (1805-1825) อันเป็นที่ที่เขาทำงานครั้งสำคัญที่สุด ทฤษฎีทางการศึกษาของเปสตาลอสซี เป็นที่รู้จักกันดีจากคำพูดของเขาเอง คือ "I wish to psychologize Instruction" ซึ่งหมายถึง การพยายามทำให้การสอนทั่วไปเข้ากันได้กับความเชื่อของเขาอย่างมีระเบียบและปรับปรุงพัฒนาไปด้วยกัน เขารู้สึกว่าศีลธรรม สติปัญญาและพลังงานทางกายภาพของผู้เรียนควรจะได้รับการคลี่คลายออกมา โดยอาศัยหลักธรรมชาติในการสร้างประสบการณ์อย่างเป็นขั้นตอน จากหลักการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เปสตาลอสซีเชื่อว่า กระบวนการสอนโดยการเพิ่มความรู้สึกต่อความรู้ในเรื่องความเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่สุด นอกจากนั้น เปสตาลอสซี ยังคำนึงถึงเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลอันจะมีผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย เปสตาลอสซี ได้เสนอแนะกระบวนการของการรับความรู้ของผู้เรียนเป็น 3 ขั้นตอน คือ
1.ให้รู้ในเรื่องส่วนประกอบของจำนวน (เลขคณิต)
2.ให้รู้ในเรื่องของรูปแบบ (Form) เช่น การวาด การเขียน เป็นต้น
3.ให้รู้จักชื่อ และภาษาที่ใช้
นอกจากนั้น เปสตาลอสซี ยังมีความเห็นเกี่ยวกับการศึกษาและการเรียนการสอน พอสรุปเป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้
1.รากฐานสำคัญยิ่งของการให้ความรู้ก็คือ การหัดให้นักเรียนรู้จักใช้การสังเกต (Observation and Sense-Perception)
2.การเรียนภาษา ครูต้องพยายามให้นักเรียนใช้การสังเกตให้มากที่สุด นั่นคือ เมื่อเรียนถ้อยคำก็ต้องใช้คู่กับของจริงที่เขาใช้เรียกชื่อสิ่งนั้น
3.การสอนครูต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่ง่ายที่สุดก่อน แล้วจึงเพิ่มความยากขึ้นไปตามลำดับ
4.เวลาเรียนต้องให้นักเรียนเรียนจริง ๆ อย่าเสียเวลาไปกับการวิพากษ์วิจารณ์ความรู้เหล่านั้น
5.ให้เวลาเพียงพอแก่นักเรียนแต่ละคน
6.ต้องยอมรับในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล
7.ต้องทำให้นักเรียนรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ต่างไปจากที่บ้าน
แนวความคิดของเปสตาลอสซีนี้ นอกจากจะมีอิทธิพลในสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังมีอิทธิพลต่อวงการศึกษาในยุโรปด้วย โดยเฉพาะในประเทศเยอรมันนีนั้น ฟรอเบลเป็นบุคคลหนึ่งที่ยอมรับแนวคิดของเปสตาลอสซี
3 เทคโนโลยีทางการศึกษาของฟรอเบล
Friedrich Wilhelm Froebel (1782-1852) เป็นนักการศึกษา ซึ่งได้เจริญรอยตามความคิดเห็นของเปสตาลอสซี ฟรอเบล เกิดที่เมือง oberwcissbach ประเทศเยอรมันนี และได้ร่วมงานด้านการสอนกับเปสตาลอสซี ที่ฟรังเฟิท เขารู้สึกพอใจและสนใจมาก โดยเฉพาะการสอนเด็กเล็ก ทำให้ฟรอเบลมีความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะปฏิวัติการศึกษาของเด็กเสียใหม่ จึงกลับไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย เมื่อจบการศึกษาแล้วได้ออกมาตั้งโรงเรียนอนุบาลขึ้นเป็นแห่งแรกที่เมืองแบลงเกนเบอร์ก (Blankenburg)ในปี ค.. 1837 ฟรอเบลมีความเชื่อในเรื่องศาสนาเป็นพื้นฐาน เขาเห็นว่าการเกิดของแร่ธาตุก็ดี การเจริญเติบโตของต้นไม้ก็ดี ตลอดจนพัฒนาการของเด็กทั้งหลายนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากพระเจ้า ดังนั้นจุดมุ่งหมายของนักการศึกษาก็คือการควบคุมดูแลเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่เท่านั้นเช่นเดียวกับจุดมุ่งหมายของคนทำสวนคือการควบคุมดูแลต้นไม้ต้นเล็ก ๆ ไปจนมันเจริญเติบโตออกดอกผลในที่สุด อย่างไรก็ตาม การควบคุมดูแล (Control) ตามแนวคิดของฟรอเบลนี้ ยังมีความหมายกว้างออกไปถึงการควบคุมพัฒนาการต่าง ๆ โดยให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับชีวิตจริงในฐานะที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย องค์ประกอบพื้นฐานในการให้การศึกษาแก่เด็กของฟรอเบล มีอยู่ 4 ประการคือ
1.ให้โอกาสผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองอย่างเสรี
2.ให้โอกาสผู้เรียนได้คิดสร้างสรรค์
3.ให้โอกาสผู้เรียนได้มีส่วนร่วม
4.ให้ผู้เรียนมีโอกาสแสดงออกทางกลไกหรือกายภาพ อันได้แก่ การเรียนโดยการกระทำ (To Learn a thing by doing not through verbal Communications alone)
วิธีสอนของฟรอเบลเน้นที่การสอนเด็กอนุบาล ดังนั้นการสอนจึงออกมาในรูปการเรียนปนเล่น ซึ่งมีหลักการที่สำคัญอยู่ 3 ประการคือ
1.การเล่นเกมและร้องเพลง
2.การสร้าง
3.การให้สิ่งของและใช้งาน
การร้องเพลงและการเล่นเกม เป็นการสร้างกำลังให้เกิดขึ้นในเด็ก ส่วนการสร้างได้แก่ การวาดภาพ การตัดกระดาษ การทำหุ่น ฯลฯ เพื่อช่วยให้เกิดความพร้อมและคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ ส่วนการให้สิ่งของและการให้งานนั้น เป็นขั้นสุดท้ายของฟรอเบล สำหรับการสอนเด็กเล็ก เช่น เริ่มจากการให้เล่นลูกบอล ต่อมาก็ให้วัตถุสามมิติรูปทรงต่าง ๆ เพื่อให้เด็กได้เริ่มคิดสรรค์สร้างตามจินตนาการของเขา
4 เทคโนโลยีการศึกษาของแฮร์บาร์ท
แฮร์บาร์ท เป็นนักการศึกษาคนหนึ่งที่สืบทอดเจตนารมย์ของคอมินิอุสและเปสตาลอสซีนักการศึกษาทั้งสอง และได้ชี้ให้เห็นแนวทางในการสร้างความคิดรวบยอดใหม่จากความคิดรวบยอดเดิม นอกจากนั้น แฮร์บาร์ทยังได้เน้นในเรื่องของจริยธรรม (Moral) โดยถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการศึกษาและเขาจะใช้อุปกรณ์ทางประวัติศาสตร์เพื่อให้การสอนบรรลุเป้าหมายข้างต้น ดังนี้จะเห็นว่าแนวคิดของเขาก็มีอิทธิพลแนวคิดของฟรอเบลแทรกอยู่ไม่น้อย
ทฤษฎีทางการศึกษาของแฮร์บาร์ท ค่อนข้างจะแตกต่างไปจากนักการศึกษา รุ่นก่อน ๆ กล่าวคือ แฮร์บาร์ทได้วางรากฐานเกี่ยวกับวิธีสอนของเขาโดยอาศัยระบบจิตวิทยาการเรียนรู้ นับได้ว่าเขาได้เป็นผู้ริเริ่มจิตวิทยาการเรียนรู้สมัยใหม่เป็นคนแรกที่สอดคล้องกับวิธีการของ Locke ที่เรียกว่า Tabula Rasa (Blank Tablet) เกี่ยวกับทฤษฎีทางจิต และได้สรุปลำดับขั้นสองการเรียนรู้ ไว้ 3 ประการ ดังนี้
1. เริ่มต้นด้วยกิจกรรมทางวิถีประสาท (Sense Activity)
2. จัดรูปแบบแนวความคิด (Ideas) ที่ได้รับ
3. เกิดความคิดรวบยอดทางความคิดหรือเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น
3.) เทคโนโลยีการศึกษา ค..1900-ปัจจุบัน (..2443-ปัจจุบัน)
ใน ค.. 1900 William James ได้เขียนหนังสือชื่อ Talks to Teacher on Psychology อันแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ในการสอนนั่นก็หมายความว่า ได้เริ่มมีผู้นำวิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในการสอนกันแล้ว และในปีเดียวกันนี้ John Dewey (1859-1952) ได้นำวิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาใช้ในการสอน และทำให้ห้องเรียนเป็นห้องปฏิบัติการทดลองด้วย รุ่งขึ้นอีกปีหนึ่ง คือ ค.. 1900 Edward  I. Thorndike (1874-1949) ได้เสนอวิชาการวัดผลการศึกษาเป็นวิชาหนึ่งในมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและต่อมาได้กลายเป็นวิธีการวิจัยปัญหาต่าง ๆ ทางการสอนเป็นวิธีแรก ดังนั้น ธอร์นไดค์ จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งวิชาการวัดผลการศึกษา G. Stanley Hall (1846-1924) ได้เขียนหนังสือชื่อ Adolescence (1904) นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ Alfred Binet (1857-1911) และ Theodore Simon ได้ร่วมกันเขียนหนังสือชื่อ A Method of Measuring The Intelligence of Yound Children ดังนั้นจะเห็นได้ว่า วิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรมที่แท้ และทฤษฎีการเรียนรู้โดยเฉพาะได้เริ่มนำเข้ามาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีทางการสอนในช่วงนี้เอง
ในตอนต้นของศตวรรษที่ 20 ปรากฏว่า ทฤษฎีทางการสอนของธอร์นไดค์ และดิ้วอี้ นั้นไม่สามารถจะได้ด้วยกันได้ เนื่องจากดิวอี้เน้นในเรื่องของการปฏิบัติ ซึ่งอาศัยพื้นฐานการสังเกตและการตั้งสมมติฐานแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง ถึงแม้เขาจะย้ำให้มีการสอบถาม การทดสอบและการวิจารณ์อยู่บ้างก็ตามที ในทางตรงกันข้าม ธอร์นไดค์ กลับใช้การสังเกตและการสืบสวนเป็นหลักการสำคัญ ดังนั้นทฤษฎีของธอร์นไดค์จึงถูกนักการศึกษากลุ่มของดิวอี้ซึ่งเชื่อหลักเสรีประชาธิปไตยของการเรียนด้วยการปฏิบัติคัดค้าน ถึงแม้วิธีการของดิวอี้จะยังไม่ได้รับการทดสอบก็ตาม
1.เทคโนโลยีการศึกษาของธอร์นไดค์
Edward L. Thorndike (1874-1949) นักการศึกษาและจิตวิทยาชาวอเมริกาที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งได้เป็นผู้ให้กำเนิดทฤษฎีแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ มีชื่อว่า ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Connectionism Theory) จากการที่ธอร์นไดค์ ได้ศึกษาเรื่อง การเรียนรู้ของสัตว์ และต่อมาได้กลายมาเป็นทฤษฎีการเรียนรู้ทั่วไปโดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์นั้น เป็นที่รู้จักกันดีในนามทฤษฎีความสัมพันธ์เชื่อมโยง ในเรื่องนี้ นอกจากธอร์นไดค์จะได้ย้ำในเรื่องการฝึกหัดหรือการกระทำซ้ำแล้ว เขายังให้ความสำคัญของการให้รางวัลหรือการลงโทษ ความสำเร็จหรือความผิดหวังและความพอใจหรือความไม่พอใจแก่ผู้เรียนอย่างทัดเทียมกันด้วย
ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดค์ ได้เน้นที่ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่าง สิ่งเร้า (Stimulus) กับการตอบสนอง (Response) เขาเชื่อว่า การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการที่มนุษย์หรือสัตว์ได้เลือกเอาปฏิกิริยาตอบสนองที่ถูกต้องนั้นมาเชื่อมต่อ (Connect) เข้ากับสิ่งเร้าอย่างเหมาะสม หรือการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็โดยการสร้างสิ่งเชื่อมโยง (Bond) ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนองให้เกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงเรียกทฤษฎีการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ว่า ทฤษฎีเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้ากับตอบสนอง (S-R Bond Theory) หรือทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Conectionism Theory)
จากการทดลองและแนวความคิดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของธอร์นไดค์ ดังกล่าวมาข้างต้น เขาได้เสนอกฎการเรียนรู้ที่สำคัญขึ้นมา 3 กฎ อันถือว่าเป็นหลักการเบื้องต้นที่นำไปสู่เทคโนโลยีทางการศึกษาและการสอน กฎทั้ง 3 ได้แก่
1.กฎแห่งการฝึกหัดหรือการกระทำซ้ำ (The Law of Exercise or Repetition) ซึ่งเขาได้ชี้ให้เห็นว่า การกระทำซ้ำหรือการฝึกหัดนี้ หากได้ทำบ่อย ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ จะทำให้การกระทำนั้น ๆ ถูกต้องสมบูรณ์และมั่นคง
2.กฎแห่งผล (The Law of Effect) เป็นกฎที่มีชื่อเสียงและได้รับความสนใจมากที่สุด ใจความสำคัญของกฎนี้ก็คือรางวัลหรือความสมหวัง จะช่วยส่งเสริมการแสดงพฤติกรรมนั้นมากขึ้น แต่การทำโทษหรือความผิดหวังจะลดอาการแสดงพฤติกรรมนั้นลง
3.กฎแห่งความพร้อม (The Law of Readiness) กฎนี้หมายถึงความพร้อมของร่างกาย ในอันที่จะแสดงพฤติกรรมใด ๆ ออกมา
2.เทคโนโลยีการศึกษาของดิวอี้
เทคโนโลยีการศึกษาและการสอนของ จอห์น ดิวอี้ มีความสำคัญต่อระบบการศึกษาของสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวความคิดในการแก้ปัญหา (Problem-Solving) ดิวอี้ได้ศึกษาเรื่องนี้กับ ฮอลล์ ที่มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอบกิน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต หลังจากที่ดิวอี้ จบจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เขาได้สอนที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน มินิโซตา และชิคาโก จากนั้นเขาได้ไปสอนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี ค..1904 นักจิตวิทยาการเรียนรู้ของจอห์น ดิวอี้ ตรงกับข้ามกับ ธอร์นไดค์ ดิวอี้ เชื่อว่าสิ่งเร้ากับปฏิกิริยาตอบสนอง ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างชัดเจน แต่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ดิวอี้ ได้โจมตีพวกมีความเชื่อในเรื่องมโนภาพแบบสะท้อนกลับ (The Reflect Arc Concept) ซึ่งยืนยันการเรียนรู้รวมเอาการมีผลกระทบต่อกัน ระหว่างผู้เรียนกับสิ่งแวดล้อมของเขาเข้าไว้ด้วยจากการทดลองของดิวอี้ที่มีต่อเทคโนโลยีการศึกษานั้น น่าจะได้แนะแนวความคิดของเขาที่เกี่ยวกับการสอน ซึ่งเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์สำหรับดิวอี้ ควรคิดที่ให้ผลคุ้มค่าก็คือวิธีการไตร่ตรอง (Reflective Method) หรือการพิจารณาอย่างรอบคอบและแน่นอน เกี่ยวกับความเชื่อหรือแบบแผนของความรู้ที่เกิดขึ้น สาระของวิธีการแบบไตร่ตรองของดิวอี้ มีอยู่ในหนังสือชื่อ How We Think ซึ่งได้กล่าวถึงการไตร่ตรองในฐานะที่เป็นความเคลื่อนไหวทางจิตวิทยา โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.ผู้เรียนปะทะกับปัญหา เขาจะต้องรู้จุดมุ่งหมายบางอย่าง และรู้สึกถูกกีดกันจากอุปสรรคที่สอดแทรกเข้ามา ดังนั้นเขาจำเป็นต้องทำให้มีความต่อเนื่องกัน
2.หลังจากได้ปะทะกับปัญหา หรือรู้สึกว่าข้อมูลที่รู้มาขัดแย้งกัน เขาจะตั้งสมมติฐานขึ้นเพื่อกำหนดคำตอบลองดู ซึ่งอาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ใช้ได้
3.บางครั้งภาวะการณ์ที่เป็นปัญหา ได้รับการตรวจสอบและสังเกตเพื่อเอาความและประสบการณ์ที่มีอยู่มาใช้เพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งขึ้น ขั้นตอนต่าง ๆ ที่นำมาให้ต่อเนื่องกันเป็นกิจกรรมของผู้เรียน หรือจุดมุ่งหมายของผู้เรียน จะต้องได้รับการทำให้เห็นได้ชัดเจนเพียงพอ
4.ผู้เรียนต้องทดสอบสมมติฐานต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้น และพยายามพิสูจน์ผลที่ได้รับจากสมมติฐานนั้น
5.สุดท้ายผู้เรียนจะต้องสรุปให้ได้ ซึ่งจะรวมเอาทั้งการยอมรับ การขยายหรือการปฏิเสธสมมติฐานหรือมันอาจจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่าหลักฐานที่เชื่อถือได้ ไม่อาจทำให้มีพื้นฐานสำหรับการกระทำ หรือไม่อาจจะทำให้ได้ข้อความ (Statement) ที่ยืนยันได้แน่นอน
3. เทคโนโลยีการศึกษามอนเตสซอรี
Maria Montessori (1870-1952) นักการศึกษาสตรีชาวอิตาลีผู้บุกเบิกเกี่ยวกับการสอนแบบ Nourishing สำเร็จการศึกษาทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยโรม แต่เพราะความสนใจในเรื่องพัฒนาการและกิจกรรมของเด็ก ทำให้เธอหันเหชีวิตจากงานด้านการแพทย์เข้ามาสู่การศึกษา เธอไปเป็นครูระหว่างปี ค..1899-1901ในช่วงนี้เธอได้ปรับปรุงเทคนิคการสอนทางจิตของเด็กที่พิการเพราะขาดแคลนอาหาร โดยอาศัยพื้นฐานทางวิธีการและอุปกรณ์ของ Seguin (เป็นนักเทคโนโลยีทางการศึกษาชาวฝรั่งเศลที่ศึกษาเกี่ยวกับเด็กพิการทางจิต เช่น Idiot เป็นต้น เขามีชีวิตอยู่ระหว่างปี ค.. 1812-1880)
เมื่อมอนเตสซอรีเขียนหนังสือ "Scientific Pedagogy as Applied to Child Education in the Children's Houses" ออกพิมพ์เผยแพร่ในปี ค..1909 ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป นักการศึกษาสำคัญ ๆ จากทั่วโลกไปสังเกตวิธีสอนที่โรงเรียนของเธอเป็นจำนวนมาก
แนวคิดพื้นฐานของวิธีสอนแบบมอนเตสซอรี เทคโนโลยีการศึกษาและการสอนของมอนเตสเซอรี มีลักษณะที่สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ
1.การจัดกิจกรรมของโรงเรียนให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน
2.แบ่งเด็กให้มีโอกาสทำงานได้อย่างอิสระ โดยไม่ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนฝ่ายเดียว
3.เน้นในเรื่องลักษณะการแบ่งแยกระบบประสาทสัมผัส
หลักการพื้นฐานของวิธีการสอนแบบมอนเตสซอรี มีอยู่ 2 ประการคือ
1.ยอมรับในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ทำงานอย่างมีอิสระ โดยไม่คำนึงถึงแต่เพียงเฉพาะในเรื่องของสภาวะทางกายภาพในห้องเรียนและบรรยากาศทางจิตวิทยาเท่านั้น
2.ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียน สื่อการสอนและธรรมชาติของกระบวนการสอนด้วย
4.เทคโนโลยีการศึกษาของเลวิน
จากการศึกษาค้นคว้าทดลองของ Kurt Lewin ที่มหาวิทยาลัยแห่งเบอร์ลิน ประมาณปลายปี ค..1920 ทำให้เกิดหลักการทฤษฎีที่สำคัญขึ้นมาทฤษฎีหนึ่ง และถึงแม้ทฤษฎีนี้จะได้ทดลองปฏิบัติอย่างใกล้ชิดกับจิตวิทยาเกสตัลท์ ในกรุงเบอร์ลินก็ตาม แต่ทฤษฎีของเลวิน มีความสัมพันธ์กับนักจิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์ตามที่คนทั่ว ๆ ไปเข้าใจอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
ทฤษฎีทั่ว ๆ ของเลวิน ถึงแม้การกล่าวถึงทฤษฎีทั่ว ๆ ไป ของเลวินจะไม่ใช่จุดมุ่งหมายของเราในการศึกษาเรื่องพัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษา แต่การได้ทราบถึงจุดเริ่มของการศึกษาค้นคว้าและทฤษฎีของเขา จะช่วยให้เราเข้าใจมูลฐานของการสร้างทฤษฎีการเรียนรู้ของเขาแจ่มแจ้งขึ้น ทฤษฎีของเลวินมีลักษณะคล้ายกับทฤษฎีกลุ่มเกสตัลท์ ในแง่ที่ว่า เขาได้เน้นในเรื่องการจัดสถานการณ์เพื่อการตอบสนองในลักษณะรวมทั้งหมด (As a whole) ไม่ใช่การพิจารณาส่วนย่อยของสถานการณ์หรือสิ่งนั้น ๆ แต่ทฤษฎีของเลวินก็ต่างไปจากเกสตัลท์ในเรื่องเกี่ยวกับการจูงใจ โดยเขาได้เน้นในเรื่องเกี่ยวกับการจูงใจเป็นหลักการสำคัญ
Life Space หรือที่เราเรียกกันว่า อวกาศแห่งชีวิตตามแนวคิดของเลวินนั้น เขาใช้คำนี้ เพื่อต้องการหมายถึง อวกาศหรือห้วงแห่งชีวิตอันเป็นเสมือนโลกอีกโลกหนึ่งต่างหาก ซึ่งเป็นโลกทางความคิดหรือโลกของจิต (Rsychological World) ของแต่ละบุคคล อวกาศแห่งชีวิตจะมีอิทธิพลหรือความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของบุคคลแต่ละคน ตามแต่เขาจะมีอวกาศแห่งชีวิตอย่างไร
ส่วนความคิดรวบยอดเกี่ยวกับ Topological ของเลวินนั้น เขาใช้เพื่ออธิบายโครงสร้างเกี่ยวกับการรับรู้และปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่ควรจะดำเนินการไปได้ของอวกาศแห่งชีวิตในลักษณะของย่าน (Regions) และอาณาเขตหรือขอบเขต (Boundaries) เช่น ในอวกาศแห่งชีวิตของคน ๆ หนึ่ง สมมติว่าเขากำลังคิดถึงเรื่องของ "การกินในตอนนี้เป็นเรื่องของย่าน (Regions) ความคิดเขาจะมีปฏิกิริยาในขอบเขต (Boundaries) ต่าง ๆ กันออกไปตาม แต่ว่าในขณะนั้น เขาหิวหรืออิ่ม เป็นต้น
 5.ทฤษฎีการศึกษาของสกินเนอร์
ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบอาการกระทำ (Operant Conditioning) หรือพฤติกรรมนิยม (Behaviorism) ของ B.F. Skinner จัดว่าเป็นทฤษฎีที่เสริมต่อจากทฤษฎีจิตวิทยา S-R หรือทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดค์และทฤษฎีพฤติกรรมของ Watson โดยรวมเอาแนวคิดของทฤษฎีทั้งสองเข้าด้วยกัน กล่าวคือ เขามีความเห็นว่ามนุษย์เรานั้นมีลักษณะที่เป็นกลางและอยู่นิ่งเฉย (Man is neutral and passive) ดังนั้น พฤติกรรมทั้งหลายของมนุษย์จึงสามารถอธิบายได้ด้วยเรื่องของกลไก (Mechanistic) ในการควบคุมพฤติกรรม จากการทดลองสกินเนอร์ จึงได้เกิดเป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่เขาเรียกว่า ทฤษฎีเงื่อนไขแบบอาการกระทำ (Operant Conditioning) พอสรุปได้ดังนี้ คือ "การกระทำใด ๆ ถ้าได้รับการเร้าด้วยการเสริมแรง อัตราความเข้มแข็งของการตอบสนองจะมีโอกาสสูงขึ้น" อย่างไรก็ตาม การเสริมแรงมีทั้งทางบวกและทางลบ ตลอดจนตัวเสริมแรงปฐมภูมิและทุติยภูมิ (Primary and Secondary Reinforces) ดังนั้นพฤติกรรมในด้านการตอบสนองต่อตัวเสริมแรง จึงมีแตกต่างกันออกไปตามแต่ชนิดของการเสริมแรง
3) พัฒนาการทางเทคโนโลยีการศึกษาในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต
ตลอดระยะเวลาประมาณ 2 ศตวรรษ นับแต่ปี ค..1960 เป็นต้นมา สื่อการศึกษาบางประเภท ได้ถูกนำมาใช้กับงานการศึกษามากขึ้น ผลจากการค้นคว้าทดลองของนักวิทยาศาสตร์ประยุกต์บวกกับแนวความคิดของนักการศึกษา ก่อให้เกิดความก้าวหน้าใหม่ ๆ ทางเครื่องมือทางการศึกษาขึ้น เช่น ทางด้านการใช้โทรทัศน์เพื่อการศึกษามวลชน การใช้โทรศัพท์ในลักษณะวงจรปิดเพื่อเรียนเป็นกลุ่ม การใช้เทคโนโลยีวีดิโอเทป ซึ่งกลุ่มผู้เรียนเป้าหมายแคบลง ๆ การใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ มาพ่วงกับความคิดและการพัฒนาการสอนในลักษณะใหม่ เช่น การเรียนด้วย
ในช่วงทศวรรษที่ 1950 วิทยุโทรทัศน์เกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมตะวันตกซึ่งสามารถใช้เป็นสื่อเพื่อการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิทยุโทรทัศน์จึงมีบทบาทสำคัญและกลายเป็นเทคโนโลยีแถวหน้าของสังคมนับแต่บัดนั้น นักวิชาการบางท่านถือว่าช่วงระหว่างทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 นี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแวดวงเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเนื่องจากการก่อกำเนิดของวิทยุโทรทัศน์ และยังได้มีการนำเสนอเอาทฤษฏีทางด้านสื่อสารมวลชนและทฤษฏีระบบเข้ามาใช้ในวงการเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาอีกด้วย ดังนั้น ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1950 จึงมีการใช้คำว่า "การสื่อสารทางภาพและเสียง" หรือ "audio-visual communications" แทนคำว่า "การสอนทางภาพและเสียง"
4) พัฒนาการเทคโนโลยีการศึกษาในประเทศไทย
เทคโนโลยีการศึกษาของไทยมีการพัฒนาการมา 3 ยุค คือ
1. ยุคแรกสมัยกรุงสุโขทัยจนถึงสมัยกรุงธนบุรี ยุคนี้เป็นยุคเริ่มต้นของการพัฒนาเทคโนโลยีทางการศึกษาของไทย ในสมัยสุโขทัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรง ประดิษฐ์อักษรไทย เพราะตัวอักษรเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเผยแพร่วิทยาการต่างๆ ให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และทำให้คนไทยเกิดความรู้สึกหวงแหนชาติไทยนอกจากนี้พระองค์ยังทรงเอาใจใส่ต่อการศึกษาของประชาชนด้วย ดังเช่น การสั่งสอนประชาชน ณ พระแทนมนังคศิลา ทั้งด้วยพระองค์เองและทรงนิมนต์พระภิกษุมาสั่งสอน เล่าเรื่อง การเทศนา การเขียนเป็นหนังสือ ฯลฯ ยุคนี้มีเทคโนโลยีการศึกษาผ่านสื่อวรรณกรรมที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ ภาษิตพระร่วง และไตรภูมิพระร่วง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เทคโนโลยีการศึกษาได้ก้าวหน้าไปมาก ทั้งด้านวิชาการทั้งในประเทศและวิทยาการจากประเทศตะวันตก หนังสือเรียนเล่มแรกของไทยชื่อ จินดามณีก็เกิดขึ้นในยุคนี้ นอกจากนี้ก็มี วรรณกรรมต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงดำเนินนโยบายต่างประทศระบบเปิด ต้อนรับชาวต่างประเทศ การค้าและการศาสนา ส่วนหนึ่งของชาวยุโรปเหล่านี้ ได้แก่ คณะมิชชั่นนารี ได้นำวิทยาการใหม่ ๆ หลายประการจากยุโรปมาเผยแพร่ในประเทศด้วย เช่น การพิมพ์ การจัดตั้งโรงเรียน แต่วิทยาการเหล่านี้ไม่ได้นำมาใช้อย่างจริงจัง ก็เลิกล้มไปเพราะพระมหากษัตริย์สมัยหลังสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไม่ต้องการให้ชาวยุโรปเข้ามาดำเนินการกิจการต่างๆ ในประเทศไทย ในสมัยกรุงธนบุรี เทคโนโลยีการศึกษามีไม่มากนัก ทั้งนี้เพราะประเทศได้รับความเสียหายมาก จากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ในปี พ.. 2310 พระเจ้ากรุงธนบุรีใช้เวลาส่วนใหญ่ในการรวบรวมคนไทย และบูรณะประเทศให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งสมัยนี้มีระยะเวลาสั้นเพียง 15 ปีเทคโนโลยีการศึกษาในสมัยนี้จึงมีเพียงวรรณกรรมเท่านั้น
2. เทคโนโลยีการศึกษายุคปรับเปลี่ยน ในยุคนี้นับตั้งแต่สมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกา ได้เข้ามามีอิทธิพลในประเทศไทยมากขึ้น แทนอังกฤษและฝรั่งเศษ สหรัฐอเมริกาได้นำเทคโนโลยีการศึกษาสมัยใหม่หลายอย่างมาเผยแพร่ในประเทศไทย เริ่มต้นด้วยภาพยนตร์ ที่สำนักข่าวสารอเมริกัน ได้นำมาฉาย หลายเรื่องมาสามารถนำมาใช้ในการศึกษาได้ ทำให้คนไทยเห็นคุณค่าของภาพยนตร์เพื่อนำมาใช้ในการศึกษา กองการศึกษาผู้ใหญ่ กระทรวงศึกษาธิการเริ่มนำภาพยนตร์มาใช้ในการให้การศึกษา ในยุคนี้เองได้มีการบัญญัติศัพท์ " โสตทัศนศึกษา" ขึ้นโดยมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Audio Visual
โสตทัศนศึกษาในยุคนี้พัฒนาอย่างมีระบบแบบแผน อีกทั้งได้มีการเปิดสอนในระดับอุดมศึกษา ทั้งขั้นปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา ทำให้ก้าวหน้ากว่าทุกยุคที่ผ่านมาโดยเฉพาะสหรัฐมเมริกาเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในการจัดการศึกษาของไทย ทั้งนี้เพราะมีนักการศึกษาและผู้บริหารการศึกษาคนไทยได้มีโอกาสไปศึกษาในสหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เทคโนโลยีการศึกษาในยุคนี้ แบ่งออกได้เป็นรูปแบบต่างๆดังนี้
                1) เทคโนโลยีการสอน ได้มีการคิดค้นวิธีการเรียนการสอนใหม่ ๆ ขึ้นมาหลายอย่าง ทั้งจากการประยุกต์จากวิทยาการของต่างประเทศและจากการสร้างขึ้นมาเอง เช่น ระบบการเรียนการสอนแบบศูนย์การเรียน ระบบการสอนแบบเบญจขันธ์ ระบบการสอนแบบจุลภาค ระบบการการสอนแบบสืบสวนสอบสวน ฯลฯ ซึ่งระบบการเรียนการสอนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นนี้ ล้วนเอาแนวคิดจากตะวันตกมาทั้งสิ้น
2) เทคโนโลยีด้านสื่อ สื่อการศึกษาในยุคนี้ส่วนใหญ่พัฒนามาจากผลิตผลทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เช่น เครื่องฉายภาพยนต์ เครื่องฉายสไลด์ เครื่องฉายภาพโปร่งใส นอกจากนี้ยังได้มีการนำวิทยุและวิทยุโทรทัศน์มาใช้เพื่อการศึกษาด้วย แต่การนำรูปแบบสื่อจากประเทศตะวันตกมาใช้ทำให้เกิดปัญหาหลายประการ เพราะสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน นักการศึกษาของไทยจึงได้พัฒนาสื่อการศึกษาขึ้นมาเองเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ โดย การใช้ทรัพยากรพื้นบ้าน ใช้สื่อราคาเยาว์เช่น ผลงานวัตกรรมพื้นบ้านเพื่อการสอนของธนู บุญรัตพันธุ์ วิธีการและวัสดุอุปกรณ์การสอนวิทยาศาสตร์ที่ผู้สอนคิด ประดิษฐ์ขึ้นเองเช่นวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของ โช สาลีฉันท์ ซึ่งมีผลิตผลที่ใช้วัสดุเหลือใช้ต่างๆ ในท้องถิ่น จึงเป็นแนวโน้มที่ดีในการเลือกและใช้สื่อในการศึกษา
3) การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบเพื่อส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา ได้มีการจัดตั้งสถาบันและหน่วยงานต่างๆขึ้นเช่น ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ศูนย์บริภัณฑ์เพื่อการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในสถาบันการศึกษาต่างๆก็มีการจัดตั้งศูนย์ที่ทำหน้าที่ด้านสื่อขึ้นมา เพื่อตอบสนองและส่งเสริมประสิทธิภาพในการศึกษาของผู้เรียนให้มากขึ้น

3. ยุคสารสนเทศ
เทคโนโลยีการศึกษาในยุคสารสนเทศ เป็นยุคที่คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในการสื่อสารเป็นอย่างยิ่งคือเริ่มตั้งแต่ พ.. 2530 เป็นต้นมา อิทธิพลของคอมพิวเตอร์ที่มีต่อการสื่อสารและสังคมทำให้บทบาทของเทคโนโลยีการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เทคโนโลยีการศึกษาในยุคนี้จึงแบ่งได้เป็น รูปแบบคือ
1) เทคโนโลยีด้านสื่อ
2) เทคโนโลยีการสื่อสาร
3) เทคโนโลยีด้านระบบ
4) เทคโนโลยีการสอน
มุมมองเทคโนโลยีที่สมัยเก่ามองเป็นภาพของโสตทัศนศึกษาเปลี่ยนไป ปรับเป็น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แนวคิดของเทคโนโลยีการศึกษายังอยู่แต่เน้นการนำเอาเทคโนโลยีสื่อสารและการสนเทศ (Information and Communication Technology) มาใช้เพื่อความทันสมัยและทันกับความก้าวหน้าของการสื่อสาร